1. ประวัติหมู่บ้าน
หมู่ที่ 4 ตำบลแก่นมะกรูด อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี เป็นชุมชนที่อาศัยอยู่บนภูเขาเป็นที่ราบสูงสลับกับภูเขาล้อมรอบ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มบ้านคือบ้านอีทราย บ้านอีมาดและบ้านเจ้าวัด มีประชากร 135 ครัวเรือน จำนวน 463 คน เป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง (กะเหรี่ยงโปว์ ด้ายเหลือง) นับถือศาสนาพุทธ ซึ่งมีขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมเป็นของตนเอง มี "เจ้าวัด" ซึ่งเป็นผู้ทรงศีล นุ่งขาวห่มขาวคล้ายกับฤาษีบำเพ็ญตนรักษาศีลรักษาสัตย์ เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของคนที่นี่ บ้านของ "เจ้าวัด"เป็นบ้านไม้ไผ่ อยู่ใกล้กับโบสถ์ไม้ไผ่ ซึ่งมีเจดีย์ไม้ไผ่เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และเคารพ เป็นศูนย์รวมทางจิตวิญญาณของคนในหมู่บ้านก่อนวันพระ 1 วันและวันพระ"เจ้าวัด" และชาวบ้านจะพากันมา จุดเทียนและสวดมนต์ที่นี่เป็นประจำในหมู่บ้านยังคงมีวัฒนธรรมประเพณี ความเชื่อ เช่นในช่วงเดือน 5 จะมีพิธีไหว้เจดีย์ประจำปีเป็นการไหว้ ผีบรรพบุรุษ แต่ละครัวเรือนจะนำด้ายเหลืองไปเข้าพิธีด้วย และจัดพิธีไหว้แม่โพสพต่อในงานเดียวกัน ในช่วงวันขึ้นปีใหม่(สงกรานต์) ก็จะมีพิธีต่ออายุกับต้นไม้ใหญ่(ต้นไทร)
ทุกครัวเรือนจะต้องเข้าไปร่วมพิธี มีพิธีแก้กรรม และพิธีผูกด้ายเหลือง ที่ลูกต้องไปล้างเท้าขอขมา พ่อแม่ พ่อแม่ก็จะผูกด้ายเหลืองพร้อมกับอวยพรให้อยู่ดีมีสุข เป็นวัฒนธรรมประเพณีที่ยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ผู้นำและชาวบ้านยังช่วยกันฟื้นฟูพิธีไหว้ป่าในช่วงเดือน 3 การแต่งกายผู้ชายจะนุ่งโสร่งแดง ผู้หญิงนุ่งผ้าแดง เด็ก ๆ นุ่งผ้าขาว การติดต่อสื่อสารจะใช้ภาษากะเหรี่ยง มีวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตนจึงก่อให้เกิดภูมิปัญญามากมาย เช่น การสร้างบ้านเรือน การใช้สมุนไพรในการดูแลสุขภาพ เครื่องจักสาน การทอผ้า การถักร้อยเครื่องประดับ เป็นต้น